20 ก.พ. 2554

ก่อนคิดจะทำสวน

เนื่องจากการดูแล-รักษา บำรุงไม้ผลต่างๆภายในสวน มุ่งเน้น
1. ไม่พึ่งพาปุ๋ยเคมี และสารเคมี โดยไม่จำเป็น
2.  นำความรู้จากภายนอกผสมกับความรู้ที่สะสมมาจากประสบการณ์ ออกมาเป็นแบบเกษตรของตนเอง
3.  มุ่งเน้นคุณภาพให้ใกล้เคียงของเดิมที่เป็นธรรมชาติ มากกว่าปริมาณ
4.  ผลิตเพื่อบริโภคภายใน เหลือจึงจำหน่าย(ไม่จ่ายแจก  แต่ใครขอก็ให้)
5. ลดต้นทุนการผลิตลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่กระทบหรือมีผลในทางเสียหายต่อผู้ผลิตและผลผลิต
6. ไม่มุ่งเน้นข้อจำกัดในเรื่องเวลา
หลักการของการดำเนินการ เราแบ่งเป็นส่วนๆ เพื่อง่ายต่อการบำรุงดูแล ไม้ผลของเราดังนี้
1. การเตรียมดิน
2. การเตรียมกล้า และการบำรุง-ดูแล
3. การปลูก
3.1 ระยะกล้า
3.2 ระยะแต่ง
4.การเตรียมความพร้อมเพื่อการออกดอก
5.การบำรุงระยะดอกและเริ่มติดผล
6.การบำรุงผลอ่อน
7.การบำรุงผลระยะขยายตัว
8.การบำรุงผลระยะใกล้เก็บเกี่ยว
9.การเก็บเกี่ยว
10.การดูแลไม้ผลหลังเก็บเกี่ยว
หลัง จากการที่เราได้แบ่งส่วนต่างๆตามระยะความเจริญเติบโตของไม้ผลแล้ว เพื่อเป็นการง่ายและสะดวกต่อการเข้าดูแล ประการต่อมาก็คือ ธาตุสารอาหารต่างๆ และสมุนไพร ที่ใช้ในการป้องกัน (ขอเน้นว่าป้องกัน) แมลงศัตรูและโรคที่จะเข้าทำลายพืช ในระยะต่างๆ และ ณ ที่สวนจะใช้ธาตุสารและฮอร์โมน รวมทั้งสมุนไพรที่ทำขึ้นเอง โดยสามารถนำมาใช้ร่วมกับไม้ผลได้ทุกชนิด ซึ่งสูตรต่างๆของการทำนั้น ณ เวลานี้ขอข้ามไปก่อนยังไม่เอ่ยถึงรายละเอียดเพราะ คงต้องใช้ เนื้อหา และเวลา พอสมควร แต่จะกล่าวถึงเพียงชื่อเท่านั้น ซึ่งผมเองก็คาดว่า หลายๆท่านก็คงทราบดีว่า ทำอย่างไรแต่ถ้าท่านใดไม่ทราบจริงๆ ก็สอบถามไปได้ที่กระทู้เกษตรหรรษานี่แหละ

ธาตุอาหาร-ฮอร์โมนจำเป็นที่ใช้อยู่ในสวน ก็มี
1.ปุ๋ยมูลสัตว์ ขี้วัว ขี้ไก่ เท่าที่จะหามาได้
-  เป้าหมาย เพื่อเป็นการปรับสภาพดินให้มีวัตถุแทรกอยู่ในเนื้อดิน (ไม่มุ่งเน้นธาตุอาหารที่มีอยู่ในมูลสัตว์เหล่านี้ เพราะใช้แล้วหมดไป เราจึงต้องคอยเติมให้ตามระยะเวลาที่เหมาะสม)
- หากผู้ใดไม่สะดวกในการจัดหา ก็ไม่ต้องดิ้นรน เมื่อพอมีกะตังค์ก็ซื้อที่เขาทำสำเร็จรูปแล้วจะดีกว่า เพราะ สะดวกและประหยัดกว่าทุกประการ
2. แกลบดิบและขี้เถ้าแกลบ
- เป้าหมายเหมือนมูลสัตว์ แต่ ที่ดีกว่าคือ แกลบเป็นวัตถุดิบที่คงนานย่อยสลายช้า เมื่อแทรกอยู่ระหว่างดินจะทำให้น้ำและอากาศสามารถเข้าสู่ลงดินได้เป็นอย่าง ดี และแกลบยังช่วยอุ้มความชื้นได้
- ขี้เถ้าแกลบ ด้วยคุณสมบัติของเขาที่มีความเป็นด่างอยู่ในตัว จึงช่วยแก้ไขเรื่องดินเป็นกรดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ต่อพืช และเป็นศัตรูของจุลินทรีย์ทำลาย จึงสามารถทำให้ดินปลอดจุลินทรีย์ศัตรู
3.ธาตุอาหารต่างๆที่ใช้เป็นมาตรฐาน
-ปุ๋ยน้ำสูตร พื้นฐาน
เป้าหมาย เพื่อเป็นสารอาหารให้แก่พืชทุกระยะความเจริญเติบโต และเป็นการป้องกันพืชขาดสารอาหาร
-ฮอร์โมน/ธาตุรอง-เสริมที่จำเป็นต่อระยะความเจริญเติบโตของพืช
เป้า หมาย  เนื่องจากความต้องการสารอาหารของพืชในแต่ละช่วงความเจริญเติบโต พืชต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป ซึ่งโดยธรรมชาติอาจจะมีไม่เพียงพอ โดยเราจะสังเกตว่า การออกดอก ติดผลและผลผลิตจะไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าที่ควร ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราจะต้องศึกษาให้เข้าใจและรู้ว่าพืชในแต่ละช่วง เขาต้องการอะไร เราจึงต้องนำมาเสริมให้เพียงพอต่อความต้องการ เช่น
ช่วงสะสมอาหารเพื่อการออกดอก เราใช้ ปุ๋ยน้ำปกติสลับกับการให้ฮอร์โมนไข่
ช่วงติดผล  แคลเซี่ยม-โบรอน (ทำเอง) และสลับกับ ปุ๋ยน้ำยืดขั้วผล สลับกับการให้ปุ๋ยน้ำสูตรพื้นฐาน
ช่วงผลโต แคลเซี่ยม-โบรอน(ทำเอง)+ฮอร์โมนผลไม้
ช่วงขยายผล ไซโตคินนิน(ทำเอง)+แคลเซี่ยม-โบรอน(ทำเอง)+ฮอร์โมนผลไม้
ช่วงผลแก่ ไซโตคินนินขยายทางข้าง(ฝรั่ง-กระท้อน-พุดทรา-ลิ้นจี่)หรือทางยาว(มะม่วง)+แคลเซี่ยม-โบรอน(ทำเอง)+ฮอร์โมนผลไม้
จะ เห็นว่า มีสารอาหารเพียงไม่กี่ตัว เพียงแต่เราต้องรู้จักหยิบนำมาใช้ให้ถูกจังหวะเท่านั้นเอง และการใช้ทุกครั้ง จำเป็นที่จะต้อง ใช้สมุนไพรป้องกันโรค-ศัตรูพืช ทุกครั้ง ซึ่งสมุนไพรที่สวนใช้อยู่ก็เป็นสมุนไพรที่หาง่ายมากๆ ไม่ต้องลำบากดั้นด้นหาให้มันยุ่งยาก เช่น สะเดาทั้ง 5 ,พริกสด,ขิง,ข่า.ตะไคร้แกง,ตะไรไคร้หอม,ยาเส้น(ฉุน),ใบยาสูบ(ถ้ามี),ใบ มะกรูด,ผลมะกรูด,สาบเสือ,ใบสดยูคา,ขมิ้นชัน,กระเพราขาว-แดง เท่านี้ก็พอ แต่ถ้าใครหาได้มามากกว่านี้ก็ยิ่งดี หรือจะหามาปลูกได้ก็ยิ่งเหมาะมาก วิธีการทำ ก็ง่ายๆไม่ต้องวิชาการ เพราะน่าเบื่อ ของผมก็นำเอาวัสดุที่หามาได้ (จะเท่าใดไม่ต้องคำนึงมาก-น้อย ครบไม่ครบ)นำไปสับพอเป็นชิ้นหยาบๆ ไม่ต้องตำ(ยุ่งยาก) แล้วเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆกัน ส่วนที่1 เอาไปต้มกับน้ำเหมือนต้มยำนั่นแหละ ใส่น้ำให้ท่วมเป็น 2 เท่าของวัตถุดิบ พอน้ำเดือดก็ต้องคนไปเรื่อยๆจนน้ำลดลงเหลือ ครึ่งหนึ่ง จากนั้นก็เอากากออก(อย่าทิ้ง นะจ๊ะ เพราะจะเอาไปคลุกกับดิน เพื่อการอื่นต่อไปได้ จ๊ะ) พอเหลือแต่น้ำเราเอา วัตถุดิบส่วนที่ 2 ใส่ลงไป แล้วเติมน้ำเพิ่มจากส่วนแรกที่มี ให้เป็น 2 เท่า ของวัตถุดิบ แล้วต้มเคี่ยวต่อไป จนน้ำลดเหลือ ครึ่งหนึ่ง ทีนี้เราก็กรองหรือตักกากสมุนไพรออก แล้วปล่อยให้น้ำสมุนไพรเย็นตัวลงปกติ จากนั้นจึงกรองเอาแต่น้ำเท่าที่ใครจะสามารถกรองได้ บรรจุใส่ภาชนะที่มี ปิดฝาติดฉลากบอก ให้เรียบร้อย ทีนี้เวลาเรานำเอาออกมาใช้ ก็เอาไปแค่ 10 ช้อนกินข้าวผสมกับน้ำ 1 ปี๊บ( 15-20 ลิตร) นำไปฉีดพ่นตอน ช่วงเย็นๆ แดดร่มลมตก
เวลาเราจะใช้สารธรรมชาติเหล่า มันมีข้อจำกัดอยู่ อันนี้ถ้าเกษตรกรไม่เข้าใจ/ไม่รู้ จะเป็นสาเหตุให้ เสียทรัพย์และเวลา โดยไม่จำเป็น ซึ่งเห็นมามากแล้ว กล่าวคือ หากเราให้ธาตุ/สารอาหารต่อพืช ซึ่งจะต้องเข้าไปอยู่ในส่วนของต้นพืชเท่านั้น จึงจะเกิดประโยชน์ เหมือนกับเราๆท่านๆ ถ้าไม่อ้าปากก็จะกินอาหารยังไงได้ล่ะ จริงไม๊ แต่คนเรานะ มันกินไม่เลือกเวลาและกินทุกอย่าง กินดะไปหมด แตกต่างจากพืช เขากินอยู่ 2 ทาง คือ ทางใบ ซึ่งปากใบจะเปิดในช่วงสายๆ แดดเริ่มมี ก็ประมาณ 8.30-11.00 น. อันเป็นเวลาที่เหมาะสม (อันนี้เป็นความสังเกตเฉพาะตัว แล้วใครจะบ้าฉีดตอนแดดร้อน หน้ามืดเป็นลม ชักแง๊กๆ) ทีนี้ใครเคยลองสังเกตหรือเปล่าว่า ถ้าเราให้อาหารดีมีประโยชน์ พืชก็จะดูสดใส(สังเกตเอาเองนะ) แต่ถ้าสารที่เข้าไปเป็นพิษ เขาก็จะแสดงอาการออกมาให้เห็นเลย (อันนี้ก็ต้องสังเกตเอาเองเหมือนกัน)  ทีนี้ทางที่ 2 ก็คือ ทางราก ทางนี้ดีอย่าง กินได้ ดูดซับได้ ตลอด 24 ชม. ใครชอบให้อาหารทางไหนก็ เลือกเอา แต่ที่สวนผมให้ทางใบอย่างเดียว อยากรู้ไม๊ว่าทำไม เอาละจะบอกให้ การให้อาหารทางใบโดยการฉีดพ่น เนื่องจาก สาร/ธาตุอาหารที่เราให้นั้น เราทำเองทั้งหมด ทำให้ต้นทุนต่ำมากๆ และข้อดีวิเศษสุดก็คือ เรารู้ว่าเราใช้วัตถุดิบอะไร และเป็นของแท้แน่นอน ถ้าท่านลองไปซื้อที่ร้านดูซิ ท่านจะแน่ใจแค่ไหนว่า เขามีสารอาหารครบตามที่เขาโฆษณาข้างขวด เผลอๆเจอของปลอม (ฉม..น้ำหน้า ฮิฮิ)  ทีนี้เราฉีดพ่นไม่ต้องกลัวเปลือง ฉีดให้โชกไปเลยทั้งใต้ใบ-บนใบ ให้หยดติ่งๆลงสู่ดิน ทางดินก็จะชุ่ม รากก็ดูดซับเข้าไปอีก  เห็นไม๊ ไม่ต้องไปซื้อหาปุ๋ยเคมี ให้เปลืองกะตังค์ แต่ข้อแม้ ก่อนฉีดพ่นสารอาหาร เราควรรดน้ำให้กับพืชของเราให้ชุ่มล่วงหน้าก่อน เพื่อให้ดินมีความชื้น แต่ถ้าสวนใครมีการรดน้ำสม่าเสมอ ก็สามารถฉีดได้ตามที่กำหนดได้เลย
ทีนี้ มาเรื่องการฉีดสมุนไพรป้องกัน จำเป็นจริงๆที่ต้องฉีดพ่น ในช่วงเย็นๆ อาการไม่ร้อน เพราะสมุนไพรเมื่อถูกความร้อนจากแสงแดดจะระเหย และศัตรูพืชส่วนใหญ่ มักจะเข้ามาตอนเย็น-หัวค่ำ เหมือนพวกหัวขโมยนั่นแหละ  และในช่วงนี้ปากใบของพืชก็ปิดลงแล้ว ดังนั้นสารสมุนไพรก็จะอยู่แต่ภายนอก เหมือน รปภ.
ส่วนอาหารทางดิน ก็จะให้ ปี ละ 1-2-3 ครั้ง ตามอัทธยาศรัย เท่าที่จะทำ แต่จำเป็นต้องทำทุกปี
ง่ายๆ สบายๆ เมื่อเราต้องการอาหารธรรมชาติ เราก็ทำแบบธรรมชาติ ไม่ต้องรีบร้อน ค่อยๆทำ ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น อย่าไปคำนึงถึงรายได้จากการตลาด เพราะเราไม่มีเวลาจะไปชำระดอกเบี้ย ธกส.กับเวลาจะไปปิดถนนกับใคร ที่สวนทำเหมือนคนขี้เกียจ หญ้าก็รก ตัดบ้างเว้นบ้าง ไม่รีบร้อน แต่ถ้าถามว่ารายได้จากสวนถ้าทำแบบนี้ จะอยู่รอดหรือ  คำตอบ สบายมากครับ ไม่เชื่อก็ลองคิดตามดูซิครับ
1.ผมไม่เสพอบายมุขทุกชนิด (เหล้า-เบียร์-ของมึนเมา)ไม่เล่นการพนัน ทุกรูปแบบ ไม่ฟุ่มเฟือยตามกระแส ทำตนให้โง่ที่สุด และหูหนวดตาบอดที่สุด ในเรื่องที่ไร้ประโยชน์
2.ต้นทุนการผลิตต้ำ ต่ำ ถู๊ก ถูก เสียแต่ค่าน้ำมัน กับ เครื่องมือทุนแรงที่ต้องซื้อมาครั้งเดียวเท่านั้น นอกนั้นทำเอง
3.เมื่อ มุ่งเน้นของมีคุณภาพ ใครล่ะที่ไม่อยากได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ราคาก็กำหนดเอาเอง พอใจซื้อก็ขาย ของดีๆขายแพงๆ (จริงๆด้วย) ขนาดปีนี้ ลิ้นจี่เขาปิดถนน ของผม ลิ้นจี่พันธุ์ปากช่องธรรมดา ขายโลละ 40 บาท วันเดียวหมด ไม่ต้องไปจักพรรดิกับใคร(เพราะปลูกไม่ได้) ทำของดีๆตั้งใจ เอาใจใส่ ทำเหมือนเรากินเอง เราก็ภาคภูมิใจ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นขาประจำที่เคยซื้อกันมา ยิ่งถ้าสามารถกำหนดให้ผลผลิตออกได้ตามช่วงเทศกาลละก็ ก็ยิ่งทำรายได้เพิ่มมากขึ้น  มุกวันนี้รายได้หลักมาจากฝรั่งแป้นสีทอง ไม่เปลี่ยนสายพันธุ์ ไม่ตามกระแส เพียงทำให้ได้ ทำให้ดี เท่านั้นเองครับ
4.สัจ วาจา ความซื่อตรง-สุจริต สร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าและบุคคลทั่วไป เมื่อเราเป็นฝ่ายเริ่มให้สิ่งดี ไม่ต้องรอ เราก็จะได้รับสิ่งดีตอบแทน
เพียงแค่นี้ แหละครับ ที่ผมเลี้ยงตัวเองได้
ซึ่ง ก็เป็นเรื่องการเตรียม ความพร้อม พื้นฐานก่อนที่จะเข้าสวน ทีนี้เรามาเริ่มเข้าสวนกันเลยดีกว่า เดี่ยวท่านลุงมารและสมาชิกจะเบื่อเสียก่อน (แต่ถ้าไม่เริ่มพื้นๆก่อน ท่านจะจะต่อปลายได้ยังล่ะ)


บทความโดย : พี่เกษม เกษตรหรรษา www.takeang.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น