1 ส.ค. 2554

กล้วยหอมทอด

          สวัสดีครับเพื่อนๆ วันนี้ผมมีสูตรอาหารว่าง ไว้ทานเล่น หรือสำหรับรับรองแขกเวลามาเที่ยวที่บ้านก็ไม่ว่ากันครับ นั่นก็คือกล้วยหอมทอดรสเด็ด ส่วนผสมและวิธีทำก็ไม่ยุ่งยากครับ ลองไปทำดูเลยครับ

ส่วนผสม
  1. กล้วยหอมสุกผ่าครึ่ง 2 ผล
  2. แป้งสาลี 1 ถ้วย
  3. ไข่ไก่ 1 ฟอง
  4. น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ
  5. น้ำมันสลัด 3 ช้อนโต๊ะ
  6. ผงฟู 1 ช้อนชา
  7. น้ำมันพืช 2 ถ้วย
  8. น้ำเปล่า 1/2 ถ้วย
วิธีทำ
  1. ตอกไข่ใส่ชามผสมก้นลึก ตามด้วยน้ำตาลทราย น้ำมันสลัด ผงฟู
  2. ตีส่วนผสมให้ละลายเข้ากัน ใส่แป้งสาลีลงไป
  3. ค่อยๆ เทน้ำเปล่าลงไป ตีแป้งให้ละลายกับน้ำ ระวังอย่าให้แป้งเหลวจนเกินไป
  4. นำกล้วยหอมลงชุบกับแป้ง ทอดในน้ำมันร้อนๆ พอสุกเหลือง
  5. ตักใส่จานเสิร์ฟร้อนๆ พร้อมน้ำตาลไอซิ่ง หรือ น้ำผึ้งและมะนาว 

4 มิ.ย. 2554

น้ำกล้วยหอมปั่น

 น้ำกล้วยหอม เพื่อนกระเพาะและลำไส้
   กล้วยเป็นผลไม้ชนิดที่สองรองจากน้ำนมแม่ที่เด็กทารกต้องกินต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ วัยผู้สูงอายุ ชีวิตเราก็ไม่ได้ห่างหายไปจากผลไม้ชนิดนี้เลย แถมยังได้ลิ้มลองกันอยู่เรื่อย ๆเพราะในบ้านเราจะเรียกว่าดงกล้วยเลยก็ได้ แถมยังมีให้เลือกกินมากมายหลายพันธุ์ สำหรับกล้วยยอดนิยมก็ต้องขอยกให้กล้วยน้ำว้า ผลไม้ประจำตัวของเด็กทารก กล้วยหอมทอง กล้วยผลใหญ่ ผิวมีสีเหลืองทอง และก็กล้วยไข่ ของขึ้นชื่อของกำแพงเพชร ของกินคู่กับกระยาสารท
               กล้วยมีคุณค่าอาหารสูง กล้วยต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นผลไม้ไทยทั้งสิ้น สนนราคาก็ไม่แพง แถมยังส่งออกทำรายได้ให้แก่ประเทศอีกด้วย เช่น กล้วยหอมทองที่ส่งออกไปยังฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และประเทศในแถบยุโรป
               นอกจากกินกล้วยกันเป็นผลไม้แล้ว ยังนิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มอีกด้วย กล้วยหอมทองนิยมนำมาทำเครื่องดื่มมากกว่ากล้วยอื่น ๆ น้ำกล้วยหอมจะมีความข้นของเนื้อกล้วยที่อ่อนนุ่ม มีเนื้อเนียนเมื่อปั่น รสหวาน กลิ่นหอม เนื้อกล้วยมีสีขาว ไม่ดำ แถมยังเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์
                กล้วยหอมทอง 1 ลูกใหญ่ มี แคลเซียม 11 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม เหล็ก 1 มิลลิกรัม โปตัสเซียม 503 มิลลิกรัม วิตามินเอ 260 I.U. ไนอาซีน 1 มิลลิกรัม วิตามินซี 14 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีโคโลเมี่ยม สารอาหารที่ช่วยกระตุ้นขบวนการเมตาบอลิซึ่มของกลูโคส และช่วยสังเคราะห์กรดไขมันและคอเลสเตอรอล
               นอกจากสารต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว ในเนื้อกล้วยยังมีสารเพคติน (Pectin) ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ไม่เพียงเท่านี้ น้ำกล้วยหอมยังช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการลำไส้อักเสบ และช่วยบำรุงอาการจุกเสียดและแน่นหน้าอก
               การเลือกกล้วยหอมมาทำน้ำ ต้องเลือกกล้วยหอมที่แก่เต็มที่ ลูกใหญ่อวบ ยิ่งเปลือกมีสีเหลืองทองจะยิ่งมีสารแคโรทืนในเนื้อกล้วยสูงขึ้น แถมยังมีรสหวานและกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เมื่อต้องการทำน้ำกล้วยหอม จึงค่อยปอกเปลือกออก ถ้าปอกทิ้งไว้เนื้อกล้วยจะดำ ปอกแล้วปั่นทันที จะปั่นเป็นน้ำกล้วยหอมล้วน ๆ เลยก็ได้ หรือจะปั่นรวมกับผลไม้อื่นที่มีรสเปรี้ยว อย่างน้ำมะม่วง น้ำมะเขือเทศ น้ำส้มคั้นก็อร่อย ถ้าชอบแบบเย็นก็ใส่น้ำแข็งละเอียดลงไปปั่นด้วยก็ได้
               วิธีดื่มน้ำกล้วยหอมให้ได้รสชาติดีและมีคุณค่าต้องดื่มทันที อย่าทิ้งไว้นาน จะเสียทั้งคุณประโยชน์ และสีสันที่น่ากินไป




น้ำกล้วยหอมปั่น

ส่วนผสม
กล้วยหอม 1 ผล
น้ำเชื่อม 1/4 ถ.ต
น้ำแข็งทุบ 1 ถ.ต
นมสด 1/4 ถ.ต






วิธีทำ

1. นำกล้วยหอมมาหั่นเป็นชิ้น ๆ พักไว้
2. ทำน้ำเชื่อมโดยผสมน้ำกับน้ำตาล ตั้งไฟให้เดือดยกลงแล้วกรองเศษผงออก
3. ใส่กล้วยหอมครึ่งผล น้ำเชื่อม นมสดและน้ำแข็งลงในเครื่องผสมอาหารปั่นให้
      ส่วนผสมทั้งหมดเป็นเนื้อเดียวกันเทใส่แก้วเสริฟได้ทันที

สรรพคุณทางยา

- ช่วยป้องกันโรคโลหิตจางเพราะมีธาตุเหล็กมาก 



หรือจะเพิ่มเป็นรสชาดแบบอื่นๆ เช่น 

น้ำกล้วยหอม น้ำส้มคั้น

ส่วนผสม
 - กล้วยหอมทองหั่นชิ้นเล็ก 2 ลูก
 - น้ำส้มเขียวหวานคั้น 1 ถ้วย
 - น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
 - น้ำแข็งละเอียด 1/2 ถ้วย

วิธีทำ
นำส่วนผสมดังกล่าวมาปั่นให้เข้ากันดี 











น้ำกล้วยหอมผสมน้ำผึ้ง
ส่วนผสม
  - กล้วยหอม 2 ผล
  - น้ำผึ้ง 3 ช้อนชา
  - นมสดไร้ไขมัน 4 ช้อนชา
  - เกลือป่น
  - น้ำต้มสุก 1 แก้ว
  - น้ำแข็งเกล็ดหรือน้ำแข็งทุบเป็นก้อนเล็กๆ

วิธีทำ
        ให้ปอกเปลือกล้วยหอมแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ จากนั้นนำไปปั่นในเครื่องปั่นน้ำผลไม้ ใส่น้ำแข็งลงไปปั่นให้ละเอียด ใส่นมสดและน้ำต้มสุกลงไป ถ้าชอบรสชาติเข้มข้นให้ส่น้ำต้มสุกน้อยลง ใส่เลือลงไปเล็กน้อยเพื่อเพิ่มเติมรสชาติ แล้วตามด้วยน้ำผึ้ง เมื่อปั่นเสร็จแล้วควรดื่มทันที จะได้คุณค่าทางอาหารมากกว่า




แหล่งที่มา : หนังสือน้ำผักผสไม้เพื่อสุขภาพ


เค้กกล้วยหอม

สูตรทำ เค้กกล้วยหอม  สูตร 1


ส่วนผสมเค้ก

    แป้งสาลีสำหรับทำเค้ก 3 ถ้วย , เนยสดชนิดเค็ม 1 1/2 ถ้วย, เนยขาว 1/2 ถ้วย , ไข่ไก่ฟองใหญ่ 4 ฟอง, น้ำตาลทราย 1 1/4 ถ้วย , ผงฟู 1 ช้อนโต๊ะ ,เบกกิ้งโซดา 1/4 ช้อนชา, กล้วยหอมบดละเอียด 1 ถ้วย, กลิ่นวานิลลา 2 ช้อนชา, นมสด 1/2 ถ้วย ,เกลือป่น 1/2 ช้อนชา, ชีสแผ่นหั่นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็ก 1/4 ถ้วย

วิธีทำ
    เตรียมแป้งไว้โดยผสมแป้ง ผงฟู เบกกิ้งโซดาเข้าด้วยกัน ร่อนด้วยตะแกรงร่อนแป้ง 1 ครั้ง
    ผสมกล้วยหอมบด นมสด วานิลลาเข้าด้วยกัน พักไว้
    ตีเนยสด เนยขาว และเกลือเข้าด้วยกัน ด้วยเครื่องตีไข่ไฟฟ้า พอขึ้นฟู ใส่น้ำตาล ตีต่อจนขึ้นฟู เป็นครีมขาว ต่อยไข่ใส่ทีละฟอง ตีให้เข้ากันจนหมดไข่
    ใส่ส่วนผสมแป้ง สลับกับส่วนผสมกล้วยหอม ตีเบาๆ ให้เข้ากันใส่ชีส คนให้ทั่ว
    เทส่วนผสมใส่พิมพ์สี่เหลี่ยมขนาด 6×6x2 นิ้ว ที่ทาเนยและรองด้วยกระดาษไข ประมาณ 3/4 ของพิมพ์ เคาะพิมพ์เบาๆ
    นำเข้าเตาอบอุณหภูมิ 300 F ประมาณ 20 นาทีหรือจนสุก เอาออกจากเตาอบ ทิ้งไว้สักครู่ คว่ำออกจากพิมพ์ดึงกระดาษออก หั่นเป็นชิ้น

ลองทำดูนะ



สูตรทำ เค้กกล้วยหอม  สูตร2

เค้กกล้วยหอม ( 20 นาที )
ส่วนผสม

 1.  แปงเค้ก                                                    1           ถ้วยตวง 
 2. ไข่ไก่                                                        3           ฟอง
 3.  ผงฟู                                                         1          ช้อนชา 
 4. กล้วยหอม                                                  2           ผล
 5. นมสด                                                       5           ช้อนโต๊ะ
 6. โซดา ไม่ต้องเยอะ
 7. น้ำตาลทราย                                              1/2         ถ้วย
 8. ครีมออฟทาร์ทาร์                                        1/2         ถ้วย

วิธีทำ 

1.ร่อนแป้ง ใส่ผงฟู ร่อนอีกครั้งแล้วพักไว้
2. ตอกไข่ คัดไข่แดงแยกออกใากไข่ขาว
3. นำไข่แดงไปผสมกับน้ำตาลทราย 1 ช้อนโต๊ะ
4. บดกล้วยหอมให้ละเอียดเนียน เติมลงในแป้ง ตามด้วยนมสดนำมาผสมกับไข่แดง ตีๆ ให้เข้ากันดีกวนๆ นวดๆ จนแป้งเริ่มเนียน
5.นำไข่ขาวที่แยกไว้มาผสมกับครีมออฟทาร์ทาร์ เติมน้ำตาลทรายอีก 1-2 ช้อนโต๊ะ ตีๆ แบบรวดเร็วจนไข่ขาวขึ้นแข็งเป็นยอด
6.นำส่วนผสมนี้ไปรวมกับส่วนผสมที่เตรียมไว้ คนๆ ให้เข้ากันดี
7. เทส่วนผสมใส่พิมพ์เล็กๆ ทาพิมพ์ด้วยเนยหรือผงแป้งสาลีสักเล็น้อยก่อนเทส่วนผสมใส่ นำเข้าเตา   อบนานประมาณ 20 นาที ด้วยๆฟ 350*F
8. รอจนสุก นำมารับประทานได้ตามใจชอบ หรือเป็นของฝากก็ดีทีเดียว

1 มิ.ย. 2554

สวนพุทราน้อยๆ

สวัสดีอีกครั้งนะครับ โครงการแรกของผม ปลูกพุทรา 




    หลังจากนั่งคิดนอนคิด ตีลังกาคิดอยู่หลายวันว่าจะปลูกอะไรดีน๊า ให้ได้ผลผลิตเร็ว ขายได้ภายใน 1 ปี แบบว่าอยากรวยเร็วๆ ดูแลง่าย โตไว เหมาะสมกับที่ของเรา เรื่องมีอยู่ว่าผมไปตรวจงานในหน้าที่ครับ เผอิญทานข้าวเที่ยงเสร็จก็ไปหาที่พักตา ไปพบกับสวนพุทราของเกษตรกรท่านหนึ่งเข้า ปกติพื้นที่แถวนี้ หมายถึง อำเภอที่ผมอยู่ไม่ค่อยมีใครปลูกผลไม้แบบเป็นสวนจริงจังซักเท่าไหร่ ส่วนมากจะเป็นพืชล้มลุกซะมากกว่าเหตุอาจเพราะการปลูกพื้ชไร่สามารถทำได้หลายครั้งมั่งครับ ผมไม่เจอสวนพุทราตอนที่มันจะหมดหน้าแล้วครับ แต่ลูกดกมาก เก็บกันไม่ทัน ราคาก็ที่ซื้อกินตามตลาดตอนนั้นก็ซัก โลละ 20-25 บาท ลองสอบถามท่านเจ้าของสวนดูเค้าบอกว่า ปลูกปีเดียวก็เก็บผลได้แล้ว อู้..!!  น่าสนใจเหะ ลองถามไปเพราะเคยได้ยินเค้าว่าต้องดูแลมากนี่เพราะแมลงศัตรูเยอะ เค้าบอกว่า ก็ดูแลตามตาราง ไม่มีอะไรมาก ...อืมน่าสนใจนะ ..กลับมาที่บ้าน ปรึกษาแม่บ้านดู ก็ไม่ขัดอะไร เลยตัดสินใจปลูกไอ้นี่แหละว่ะ พุทรา 
   อ้าว  คราวนี้ เราจะปลูกพันธุ์อะไรดีล่ะ ก่อนอื่นต้องรู้ว่าพุทรา มีกี่พันธุ์อะไรบ้าง พันธุ์ ใหนเค้านิยมปลูกกัน  พันธุ์ใหนราคา ดี เราสมัยใหม่ต้องหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตดีกว่าเพราะคนแถวนี้เค้าไม่มีใครปลูกกัน (แถวบ้าน)
      พันธุ์พุทรา นอกจากพุทราป่าแล้ว ที่เค้านิยมปลูกเป็นพืชเศรษกิจมีอะไรบ้าง มาดูกัน

1.พุทราพันธุ์ มิ่งเฉา ที่ไต้หวัน
2.พุทรา พันธุ์ ซื่อหมี่ หรือ พันธุ์นมสด
3. พุทรา สามรส





       ในที่สุดก็มาลงตัวที่พุทราพันธุ์ใต้หวัน (ซื่อหมี่)หรือหลายท่านเรียกพุทรานมสด(ขาวจ๊วก อิอิ)เพราะ

ไปปรึกษาหลายท่านทั้งในเวปบอร์ด ให้ความรู้และการแบ่งปันในเรื่องราวของเกษตร อย่าง เกษตรพอเพียง.com บทความเกี่ยวข้องกับพุทรา ของ กระทรวงเกษตรและเกษตรอำเภอหลายๆที่ ก็แนะนำว่าพันธุ์ที่ควรปลูกคือพุทราไต้หวัน พันธุ์ ซื่อหมี่ นี่เอง เพราะ ลูกใหญ่ กรอบหอมหวาน รสชาติถูกใจจ๊อดที่สุด และมีราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด.. เค เค .. อ้าว..แล้วกิ่งพันธุ์ล่ะ สอบถามราคาจากบอร์ดขายของต่างๆ ก็ได้ราคาประมาณ กิ่งละ100-150 บาท ไม่รวมค่าขนส่ง
      ยังไม่พอครับ ก่อนลงมือ ต้องมีการศึกษาดูงาน อิอิ  ไปดูงานสวน คุณลุงเจริญ คำโล ติดตามที่ >> >>>เยี่ยมสวนลุงเจริญ >>>> [บทความเกี่ยวกับสวนลุงเจริญ คำโล พุทราทำเงินแสนที่พะเยา]


วันนี้มาอัพเดช รูปสวนพุทราซักหน่อยครับ 



แบบว่า มีทั้ง มะนาวและฝรั่งด้วย มะนาวนี่ ทดลอง ครับ 20 ต้น  ส่วนฝรั่ง กะว่าจะทอลองเหมือนกัน  ปลูกไว้กินเล่น ใครสนใจ มาปลุกด้วยกันนะครับ 



มะนาวผมลงไว้ก็มี พันธุ์ แป้นพิจิตร 1  พันธุ์ แป้นรำไพ   พันธุ์ ไร้เมล็ด ตาฮิติ แป้นดกพิเศษ และก็พันธุื์พื้นเมืองครับ รูปตอน ปลุกได้ 3 เดือนครับ
  




ฝรั่ง กิจู ครับ ต้นนิดเดียวออกดอกซะ ... น่าสนใจนะครับผมว่า...

>>>ดูรายละเอียดแปลงทดลองปลูกพุทรา ตั้งแต่เริ่มต้น 

>>>ผลผลิตรอบแรก ลูกแรงของแปลง ครับ ภูมิใจหลาย  

>>>เข้าปีสองแล้ว มาดู ต่อกันว่าจะกำไรหรือขาดทุน สวนพุทราปี 2 เอาจริงละนะ

26 เม.ย. 2554

สวนพุทราปี2 เอาจริงละนะ

          สวนพุทราปีที่2 เค้าว่ากันว่าจะได้ทุนคืนก็เริ่มแต่ปีที่ 2 นี้ไป ล่ะครับ หลังจากปีที่แล้วแค่พอได้กิน ปีนี้ก็ต้องเริ่มบำรุงกันจริงจังอีกซักปี ว่าจะเป็นยังไงครับ วันนี้(วันที่เขียน 29 มีนาคม 2554 )ว่างเลยมาเขียนย้อนหลัง ไปซัก 2-3 เดือนก่อนครับ
          ผมเริ่มตัดตอนกิ่ง ตั้งแต่หัวปีเลยครับ ไม่รุ้ว่าจะเร็วไปหรือ เปล่า แต่ก็ไม่สน ตัดก่อน แตกก่อน ดอกก่อน ขายก่อน ได้ตังก่อน  งิงิ รวยๆ ฮ่าๆ หลังจากตัดแต่งกิ่งแล้ว ก็เอาขี้วัวได้รวยรอบๆ พร้อมกับ ฟางข้าว บางต้นก็เป็นเปลือกถั่วแดง เพราะเข้าหน้าแล้งแล้ว ช่วงนี้ดีเพราะไม่ค่อยมีหญ้า แต่ให้น้ำอาทิตย์ ละครั้ง 2 ครั้ง ถ้ามีไฟฟ้าละแจ่มเลย ที่สวนผม ตอนนี้ยังใช้แบบเครื่องสูบไปยกเข้ายกออกอยู่ครับ มีฝนตกมาช่วยบ้าง ตอน 2 อาทิตย์ที่หนาวรอบแรก สบายแฮ เพราะฝน แฉะ เกือบ อาทิตย์ เลย ครับ น้ำเต็ม แท็ง เลย 



              บ้างต้นก็กลัวมันตาย เลยไว้กิ่งเล็กๆ ปรากฏว่ามันไม่ยอมแตกยอด ใบดันออกมาทางกิ่งที่ไม่ตัดหมดเลย เลยต้องมาไล่ตัดออกทั้งหมดครับ ใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ไป หนึ่งรอบ ผมยังนึกอยู่ว่า ผมตัดตอยาวไปหรือเปล่าน่ะครับ เพราะกลัว ต้นพันธุ์ดีจะตาย กลัวกลายเป็นพันธุ์พื้นเมือง หมด ละแย่เลย จากการปลูกไปราวๆซัก 60 ต้น ม่องเท่ง ไป 2 ครับ ต้องขุด ตอเดิมออกเพราะมันเป็น พันธุ์ พื้นเมืองที่ทนมากๆ ไม่ตายแต่ต้นพันธุ์ดีตาย สาเหตุนะหรอครับ งิงิ  เพราะผม ลืมตัดเชือกฟางที่มัดกับไม้หลักออกครับ ต้นมันโตเร็วมาก เชือกก็รัด จนกิ่ว พอลมมา ก็  ... น่าเสียดาย 

        ไปแอบดูมะนาวนิ๊ด หนึ่งครับ ออกดอกเป็น ดอกมะลิเลย ขาวทั้งต้น งิงิ 



นี้พันธุ์ แป้น รำไพร ครับ ส่วนต้นอื่นๆก็ ออกดอกพอสมควร ปีนี้มะนาวลูกละกี่บาท ไม่สน ไม่ได้ซื้อมะนาวกินอีกแล้วคร๊าบบบบบบ

แล้วจะมาต่อนะครับ วันนี้แค่นี้ก่อน ปรื๊อออออ.... หนาว มือแข็งอะ

...............................................................................................

25 เมษายน 2554 เวลา 18.53 น.

ห่างหายไปนาน ช่วงนี้งานเข้าครับ เพิ่งทำร้าน พุทราไม่เสร็จดีแต่ก็พอได้ละครับ เนื่องจากผมตัดตอนก่อน กิ่งใหม่เลยออกมาก่อน โดนลมช่วงอาทิตย์ก่อน หักไปหลายกิ่งเลยครับ ชุดสอง ก็เริ่มชึ้นมาแทนที่ละ ช่วงนี้ฝนตกค่อนข้างบ่อยเลยสบายหน่อยไม่ต้องให้น้ำ ให้ปุ๋ย เคมีไป 15 -15-15 เดือนละ 2 ครั้ง กับ ฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัดแมลง มันชอบมากินยอดอ่อน เสียหายไปพอสมควร 



ลงทุนไปประมาณ 2500 เศษๆ ครับ เนื่องจากไม่ต้อง ซื้อไม้เสียแต่ค่าแรง กับ ค่าน้ำมัน ดูแล้วต้องใช้แบบค่อยๆเสริมเอา อาทิตย์นี้ลมฝน แรงครับ ยอดกิ่งช้ำหมด แต่คิดว่าคงไม่เป็นไร เอาไว้ค่อยๆเก็บรายละเอียด ครับ 


ไม่รู้ว่าปีนี้จะเป็นยังไงนะครับ ต้องรอดูเรื่อยๆ


-------------------------------------------------------------------------


26 เมษายน 2554  เวลา 22.12 น.

วันนี้ฝนตกตอนเย็นๆค่ำๆเหมือน 2-3 วันก่อน หลังกลับจากที่ทำงาน รีบไปฆ่าหญ้าสวนข้าวโพด ได้นิดหน่อยก็มืด โพ้ลเพ้ล ฝนเริ่ม ปอยๆลงมาอีก นึกห่วงสวนพุทรายังไงไม่รู้ เลยเอาไฟฉายติดมือไปดูสวนเสียหน่อย เสียดายไม่ได้เอากล้องติดไปด้วยเนื่องจากฝนพร่ำๆลงมา ไปส่องๆดูร้านกะกิ่งพุทราแตกยอดอ่อน โอ้โฮ้ ...มาจากใหนกันเนี้ย ไอ้ตัวแบบเนี้ยเยอะแยะไปหมด  เก็บๆ ....ต้นโน้น ต้นนี้ คร่าวๆ ฝนก็ตก อะ ไอ้ตัวนั้นมันเป็นแบบนี้อะ

 กินยอดพุทราเป็นเดชไอ้ด้วนหมดไปหลายต้นเลยครับ โถ่ ..ยอดสวยๆของผมอุตส่าเพิ่งทำร้านเสร็จ เลยต้องใช้วิธีกำจัดแบบ ชีวภาพ โดยการผ่านกระบวนการ ก็จะได้ เป็นแบบนี้

ฮ่า ฮ่า ๆๆ คลุกเกลือเสร็จสรรพ น่ากิน ใช่มะล่า เยอะเลย มะกี้ฝนหยุดไปดูอีกทีไม่ค่อยมีละ มันคงกินอิ่มหนีกันไปหมดละ เหลือแต่ซากกิ่งพุทราให้ดูต่างหน้า โถ่ คาดว่าคงมากันตอนหัวค่ำ มีแมลงปีกแข็งอย่างอื่นที่กินไม่ได้อีกที่มาช่วยกันกินยอดอ่อน ใบอ่อน พุทราสุดรักสุดหวงของผม พรุ่งนี้คงก็ใช้ไม้ตายกันซะแล้วล่ะครับ ไม่งั้นกิ่งพุทราไม่คุมร้านแน่ๆ ว่าแต่ใครชอบทานแมลงเป็นไอ้ จก คางคก ตุ๊กแก เชิญร่วมแจมได้ครับ มันๆ หร่อยดี เหอๆ บ้านใครมีมะขามที่กำลังแตกยอดอ่อน ก็น่าจะมีไอ้พวกนี้เกาะกินกันเพียบเหมือนกันครับ คืนนี้วางภาระกิจแค่นี้ก่อนดีกว่า เฮ้อ เหนื่อยจัง ....ราตรี สวัสดิ์ครับ 

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

2  มิถุนายน 2554 เวลา 21.54 น.

                          อ่าาาาา....หลังจากอกหักจากหวยมะวานนี้กันไป วันนี้เซ็งร้อนๆ  มาอัพรูปดีก่า ..งุงิ ตนี้ก็ฉีดยาไล่แมลงไปครั้ง สองครั้งครับ เพราะว่ามันมากัดกินยอดอ่อน พุทราหมด แล้วก้เริ่มแต่ มัด ดัด ตัด เป็นไม้ดัด กันไปเลย ตัดกิ่งที่อยู่ต่ำกว่าร้านออกให้หมดครับ เหลือ ต้นละไม่เกิน 3 กิ่ง แบบว่าเค้าให้ 2 ผม ขี้โลภ ไปหน่อย ต้น มี 1-3 กิ่งกันเลยทีเดียว



      รูปที่อัพวันนี้ค่อยข้างเก่านิดหนึ่งครับ เดี๋ยววันเสาร์นี้จะถ่ายมาอัพเพิ่ม ตอนนี้ก้ใกล้จะคลุมร้านหมดแล้วครับ ปุ๋ยหรอ ไม่ได้ใส่อะไรเลยครับ ตั้งแต่ตอนนนั้นที่ใส่ 15 สามตัว ไปครั้งเดียว ปุ๋ยคอกก็ใส่ตอนที่ตัดตอนใหม่ๆแล้วตอนนี้ก็ใช้ได้เลย เอาไว้ใส่ตอนกลางเดือน กรกฏาคม ดีกว่าครับ แต่จะราด น้ำหมักผสมนะ ต้นละ 2 กะมัง เดือนละ 2 ครั้ง เอาว่าว่างเมื่อไหร่ก้ค่อยๆราดกันไป ตอนนี้ต้องเทียวมามัดรั้งกิ่งจัด ตัดแต่งกิ่งเรื่อยๆ ตอนเช้าตอนเย็น ครับเพลินดี มันก็ดอกของมันเรื่อยๆไม่ติดลูกหรอกครับ ปล่อยมันไป ก็ของเค้าดก จริงๆนี่เนอะ ฮ่าๆ อ่อ .ๆ ไปดูมะนาวกันหน่อยครับ นี่แป้นรำไพ ดกมากกว่า ผมว่า วงท่อมันเล็กไปจริงๆ คิดแล้วก็ชังมันเต๊อะ ..เอาไว้กินเฉยๆ เดี๋ยวเดือนโน้น อาจจะชำกิ่งไว้ขายน่าจะเข้าท่านะครับ ...ใครสนใจจองเด้อ  ฮ่าๆ


ฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬฬ

24 สิงหาคม 2554
เวลา 20.30 น.

                  ไม่ได้มาอัพซะนาน เลย ตอนนี้ก็ผ่านไป หลายเดือนครับ ต้นพุทราโตเอาๆ ฝนก็ตกดี๊ดี หลังจากปลูกยางพารา แซม ก็ตัดหญ้า ใส่ปุ๋ย ไป 2 รอบ ปุ๋ย 15-15-15 ครับ หว่าน รอบๆต้น ต้นละ 2 กำ พ่นยากันแมลงไป 1 รอบ เนื่องจาก ขี้เกียจ อิอิ กะว่าจะตื่นมาฉีดฮอร์โมนตอนเช้า ก็ไม่ได้ฉีดซักที ตื่น มาเจ็ดโมงครึ่งทุกที ไม่ทันไปทำงานครับ แต่จะต้องหาเวลา มาฉีดให้ได้ เอาซัก 2-3 รอบก็พอเนาะ

ตอนนี้ก็เกือบจะคลุมร้านแล้วครับ แต่ปีนี้คงได้แค่นี้แหละ คงไม่โตไปมากกว่านี้อีกแล้ว ออกดอก บ้างแต่ยังไม่เห็นติดลูกเลยซักกะผลเดียว มันจะออกดอกที่ติดผลมะหล่ายนะ








มีต้นยางพารามาอวดด้วย อายุ 4 เดือนครับ อ่อ อีกอย่าง มะนาวครับ ปีนี้ก็อายุ 2 ปีแล้ว ดก มาก เก็บได้ทีละกระแป๋งไม่ได้ขายครับ แจกอย่างเดียว กำลังนึกจะลองทำการงดน้ำมันดูให้มันออกผลหน้าแล้ง









6 เม.ย. 2554

เที่ยวดอยสุเทพ ๔ เม.ย. ๒๕๕๔

ไม่ได้เกี่ยวกับ เกษตรนะ มีโอกาสไปเชียงใหม่ เลยได้แวะไป นมัสการ พระธาตุดอยสุเทพมาครับ










          ถ่ายด้วยกล้อง ปัญญา อ่อนของผมเองครับ เดี๋ยวมีโอกาสแวะไปใหม่จะถ่ายเพิ่ม ถ่านกล้องหมดเสียก่อน น่าเสียดายจังครับ

17 มี.ค. 2554

วิวัฒนาการของยางพารา

โลกเพิ่งจะมีโอกาสรู้จักและใช้ประโยชน์จากยางเมื่อประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 นี้ เอง ในขณะที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ผู้ค้นพบโลกใหม่เดินทางไปอเมริกาในครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.. 2036 (1493) ก็ได้พบว่า มีชาวพื้นเมืองบางเผ่าทั้งในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ได้รู้จักและใช้ประโยชน์จากยางกันบ้างแล้ว เช่น ชาวพื้นเมืองในอเมริกากลางที่ทำรองเท้า
          จากยางโดยการใช้มีดฟันต้นยาง แล้วรองน้ำยางใส่ภาชนะ หลังจากนั้น จึงเอาเท้าจุ่มลง ไปในน้ำยางนั้น หรือเอาเท้าวางไว้บนภาชนะแล้วเทน้ำยางราดลงบนเท้า ก็จะได้รองเท้า ที่เข้ากับเท้าพอดี หรือบางเผ่าในอเมริกาใต้ทำเสื้อกันฝนและผ้ากันน้ำจากยาง หรือเผ่ามา ยันในอเมริกาใต้ ที่ทำลูกบอลด้วยยาง แล้วนำมาเล่นโดยการให้กระเด้งขึ้นลงเพื่อเป็นการ สักการะเทพเจ้า จึงทำให้โคลัมบัสและคณะมีความแปลกใจเป็นอันมาก และคิดกันไปว่า ในลูกกลมๆที่เด้งได้นั้น ต้องมีตัวอะไรอยู่ข้างในเป็นแน่ หลังจากนั้นเมื่อโคลัมบัสเดินทาง กลับยุโรป ก็ได้นำวัตถุประหลาดนั้นกลับไปด้วย โคลัมบัสจึงเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้มีโอกาสสัมผัสยาง และนำยางเข้าไปเผยแพร่ในยุโรป
          การส่งยางเข้ามาในยุโรปในระยะแรกนั้นต้องใช้เวลานานมาก กว่าที่ยางจะเดินทางจาก แหล่งกำเนิดจนมาถึงยุโรป ยางก็จะจับตัวกันเป็นก้อนเสียก่อน ดังนั้น ยางที่เข้ามาในยุโรปสมัยแรกๆ นั้น จึงเป็นยางที่ผลิตเป็นสินค้าแล้วเนื่องจากมนุษย์ยังไม่รู้จักวิธีที่จะทำ ให้ยางที่จับตัวกันเป็นก้อน ให้ละลายและทำเป็นรูปทรงที่ต้องการได้อย่างไร การผลิต ยางจึงต้องทำทันทีหลังจากได้น้ำยางมาก่อนที่ยางจะจับตัวกันเป็นก้อน ในอเมริกากลางและอเมริกาใต้เช่น ในประเทศเม็กซิโก ก็มีหลักฐานว่าได้มีการใช้ประโยชน์จากยางกันบ้างแล้ว แต่เป็นการผลิตอย่างง่ายๆเช่น ทำผ้า ยางกันน้ำ ลูกบอล และ เสื้อกันฝน เป็นต้น
การค้นพบ
พ.ศ..2143(1600) ก็ยังไม่มีความพยายามที่จะนำกรรมวิธีทำยางเข้ามาในยุโรป พ.ศ.. 2279(1736) ชาลส์ มารี เดอลา คองดามี ได้ส่งตัวอย่างยางจากลุ่มน้ำอเมซอน กลับมาที่ฝรั่งเศส และสรุปว่าไม่สามารถนำน้ำยางกลับไปยุโรปเพื่อการผลิตได้ เพราะ ยางจะแข็งตัวเสียก่อนที่จะถึงยุโรป .ศ.. 2313 เฮอริสแซน พบว่า น้ำมันสน [Terpentine] สามารถละลายยางที่จับตัวกัน เป็นก้อนได้ และยังพบต่อไปอีกว่า Ether เป็นตัวละลายยางได้ดีกว่าน้ำมันสน พ.ศ.. 2313 (1770) โจเซฟ พริสลี่ (คนเดียวกับที่ค้นพบอ๊อกซิเจน) ค้นพบว่า ยางใช้ลบรอยดำของดินสอได้ จึงเรียกยางว่ายางลบ [Rubber] ตั้งแต่นั้น พ.ศ.. 2334 (1791) โฟร์ ครอย ค้นพบการป้องกันไม่ให้ยางจับตัวกันเป็นก้อนโดยการเติมด่างที่มีชื่อว่า Alkali ลงไปในน้ำยาง แต่การค้นพบนี้ก็ต้องเป็นหมันอยู่ถึง 125 ปีเพราะไม่มีใครสนใจ พ.ศ.. 2363 (1820) โธมัส แฮนคอก (อังกฤษ) ประดิษฐ์เครื่องฉีกยางได้สำเร็จ แต่ก็ปกปิดไว้ โดยบอกคนที่ถามว่าเป็นเครื่องดองยาง [Pickle] และยังพบด้วยว่า ความร้อนทำให้ยางอ่อนตัวลงได้ และจะปั้นใหม่ให้เป็นรูปอะไรก็ได้ ตามต้องการ พ.ศ.. 2375 (1832) แฮนคอกได้ปรับปรุงเครื่องฉีกยางของเขาให้ดีขึ้น และเรียกเครื่องที่ปรับปรุงขึ้นใหม่ว่าดังกล่าวว่า เครื่อง Masticator ซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบของเครื่องฉีกยางที่ใช้กันถึงทุกวันนี้ โธมัส แฮนคอก จึงได้รับเลือกให้เป็น "บิดาแห่งอุตสาหกรรมการยาง" พ.ศ.. 2380 (1837) แฮนคอกประดิษฐ์เครื่องรีดยางได้เป็นผลสำเร็จ [Spreading] พ.ศ.. 2379 (1836) ทางอเมริกาก็ประดิษฐ์เครื่องบดยางได้สำเร็จเหมือนกัน พ.ศ.. 2386 (1843) ชาลส์ กูดเยียร์ (อเมริกา) ค้นพบกรรมวิธีในการทำให้ยางคงรูป โดยการ "อบความร้อน" [Vulcanisasion] และยางที่ผสมกำมะถันและตะกั่วขาว เมื่อย่างไฟแล้ว แม้จะกระทบร้อนหรือเย็นจัด ยางจะเปลี่ยนรูปไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่ชาลส์ค้นพบนี้ แฮนคอกก็ค้นพบในอีก 2 ปีต่อมา และนำผลงานไปจดทะเบียน [Patent] ทันที แต่ชาลส์ไปจดทะเบียนหลังแฮนคอก 2 - 3 สัปคาห์ แต่โลกก็ยังให้เกียรติแก่ ชาลส์ กูดเยีย ว่าเป็นผู้ที่คิดกรรมวิธีนี้ได้ก่อน พ.ศ.. 2389 (1846) โธมัส แฮนคอก ประดิษฐ์ยางตันสำหรับรถม้าทรงของพระนางเจ้าวิคตอเรีย พ.ศ..2413 (1870) จอน ดันลอป ผลิตยางอัดลมสำหรับจักรยานได้สำเร็จ พ.ศ.. 2438 (1895) มีผู้ประดิษฐ์ยางอัดลมสำหรับรถยนต์ได้สำเร็จ
         
การค้นพบกรรมวิธีในการทำให้ยางคงรูปได้นั้น นับได้ว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก สำหรับวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งในช่วงเวลานั้น มีการค้นพบและมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ทางวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นมากมายเช่น เจมส์ วัตต์ สร้างเครื่องจักรไอน้ำ โรเบิร์ต ฟูลตัน สร้างเครื่องจักรเรือไอน้ำ จอร์จ สตีเวนสัน สร้างหัวรถจักรไอน้ำ ไมเคิล ฟาราเด สร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้า มอส สร้างเครื่องส่งโทรเลข เป็นต้น แต่ความสำเร็จต่างๆ เหล่านั้น คงจะขาดความสมบูรณ์ไปมากถ้ายังขาดความรู้เรื่องการทำยางให้คงรูป เพราะยางที่คงรูปแล้ว [Vulcanised Rubber] จะช่วยเติมความไม่สมบูรณ์เหล่านั้นให้เต็มเช่น เป็นตัวห้ามล้อรถไฟ หรือทำสายไฟ และสายเคเบิ้ลใต้น้ำ เป็นต้น จนถึง

6 มี.ค. 2554

มะนาวหน้าแล้งสู่ความรวย

การบังคับมะนาว
การ ที่จะบังคับมะนาวให้ได้ผลเก็บเกี่ยวได้ตรงช่วงหน้าแล้ง(เม.ย.)  จะต้องงดน้ำเพื่อปรับอัตราส่วน ซีเอ็น เรโซ.ในช่วงเดือนสิงหาคม ซึ่งค่อนข้างทำยากเพราะเป็นช่วงฤดูฝน นอกจากน้ำฝนแล้วยังมีปัญหาน้ำใต้ดินโคนต้นอีกที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะมีผลทำให้แตกใบอ่อนตลอดเวลา
สำหรับการปลูกมะนาวในกระถางหรือถังซีเมนต์  จะเป็นการช่วยให้เราสามารถบังคับน้ำหรือความชื้นได้แน่นอน




การเตรียมวัสดุ
เลือก ถังซีเมนต์ที่มีขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.00 ม.หรือน้อยกว่า สูง 50 ซม. ปิดก้นตลอด หรือ ใช้ฝาปิดก้น เจาะรูด้านข้างถัง ใกล้ขอบล่างถัง สัก 4-5 รู เพื่อระบายน้ำ
จัดตั้งไว้ที่กลางแจ้ง แสงแดดส่องได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

การเตรียมดิน
เลือก ดินหน้าดินตากแดดจัด 10-20 แดด เพื่อฆ่าเชื้อโรคและให้ดินร่วนซุย จากนั้นให้นำเอาอินทรียวัตถุที่มีในท้องถิ่น เช่น มูลสัตว์  (วัว,ไก่ ),เปลือกถั่วลิสง,เปลือกข้าวโพด,ซังข้าวโพด,ฟางแห้ง ฯลฯ อย่างละ 1 ส่วนเท่าๆกันคลุกเคล้าให้เข้ากันดี เพื่อเตรียมทำเป็นดินหมักพร้อมปลูก แล้วนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักตามปกติ

การเตรียมต้นมะนาว
หลัง จากที่เราลงมะนาวในถังหรือภาชนะที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการดูแลบำรุงต้นกล้าให้ได้ลำเปล้าเดี่ยวๆ ให้กิ่งง่ามแรกสูงจากพื้น 50-80 ซม.

การบำรุงมะนาวให้ออกผลในหน้าแล้ง
เดือน พ.ค.  :  เตรียมต้น
ตัดแต่งกิ่ง   ทำได้สองแบบคือ ตัดแต่งแบบปกติกับทำสาว
ล้าง ต้น       กรณีที่ต้นยังมีดอกและผลติดอยู่มาก ให้ละลายปุ๋ยทางดินสูตร 46-0-0 เข้มข้น ฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้น ไม่ต้องเสียดาย แต่ถ้ามีดอกหรือผลติดอยู่ไม่มาก ก็ให้เด็ดด้วยมือ
ล่อราก       โดยการใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ หรือเศษซากพืช เท่าที่หาได้ นำมาคลุมโคนต้นเพื่อล่อให้รากขึ้นมาดูดซึมอาหารแทนการหยั่งลงดิน

เดือน มิ.ย. :  เรียกความสมบูรณ์ของต้น
ทางใบ
หลังจากที่เราตัดแต่งกิ่งเรียบร้อยแล้ว จำเป็นที่จะต้องให้ธาตุสารอาหารทางใบ เพื่อให้ต้นมีความสมบูรณ์ โดย
น้ำ      100   ลิตร
ปุ๋ยน้ำ      100   ซีซี.
ปุ๋ยเกร็ดทางใบสูตร 15-0-0   400    กรัม
จิ๊บเบอเรลลิน   10   กรัม
ธาตุรอง/ธาตุเสริม   100   ซีซี
สารสกัดสมุนไพร   250   ซีซี.หรือมากกว่า
ฉีดพ่นให้โชกทั้งใต้ใบ บนใบลงถึงพื้นดินโคนต้น โดยฉีดทุกๆ5-7 วัน/ครั้ง
ทางราก
ใส่ ปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยคอก/ปุ๋ยอินทรีย์+ขี้ไก่ เปลือกถั่ว อินทรียวัตถุต่างๆในท้องถิ่น พร้อมกับปุ๋ยเคมีทางดิน สูตร 25-7-7 ประมาณ 0.5 กก.หว่านบางๆทั่วทรงพุ่ม พร้อมปุ๋ยน้ำชีวภาพทำเอง แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกๆ15 วัน/ครั้ง ส่วนการให้น้ำปกติ ควรให้ 2-3 วัน/ครั้ง

เดือน ก.ค. : สะสมอาหารเพื่อการออกดอก
ทางใบ
น้ำ      100   ลิตร
ปุ๋ยน้ำทำเอง   100   ซีซี.
ปุ๋ยทางใบสูตร 0-42-56   400   กรัม
ธาตุรอง-ธาตุเสริม   100   ซีซี.
ฮอร์โมน เอ็นเอเอ.   25   ซีซี.
ฮอร์โมนไข่      25   ซีซี.
ฮอร์โมนไคโตซาน   50   ซีซี.
กลูโคสผง(กระป๋อง)   250   กรัม
สารสกัดสมุนไพร   250   ซีซี.
ฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบและบนใบ รดราดถึงโคนต้น ทุกๆ 3-5 วัน/ครั้ง
ทางราก
ใส่ ปุ๋ยหมัก,ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ ตัวเดิม พร้อมกับปุ๋ยเคมีทางดิน สูตร 8-24-24 อัตรา 0.5-1 กก./ต้น สลับกับการให้น้ำพร้อมปุ๋ยน้ำ ทุกๆ15/ครั้ง และให้น้ำปกติ 2-3 วัน/ครั้ง

เดือน ส.ค. : ปรับ ซี/เอ็น เรโซ
ทางใบ
ปฎิบัติเช่นเดียวกันกับช่วงที่ผ่านมา เพียงแต่ไม่ต้องฉีดให้โชก ให้ฉีดพ่นเพียงเปียกใบเท่านั้น
ทางราก
ให้เปิดหน้าดิน อินทรียวัตถุที่คลุมหน้าดินออกให้หมด และงดน้ำอย่าเด็ดขาด กรณีสวนที่ยกร่องให้สูบน้ำออกจากร่องให้หมด
อนึ่ง บางพื้นที่อาจจะมีฝนตกอยู่บ้าง บางสวนใช้วิธีเอาผืนพลาสติค หรือ ผ้าใบมาคลุมหน้าดินเพื่อป้องกันน้ำฝน

เดือน ก.ย. : เปิดตาดอก
ทางใบ
น้ำ          100   ลิตร
ปุ๋ยเกร็ด 13-0-46      400   กรัม
ปุ๋ยน้ำชีวภาพ      100   ซีซี
ธาตุรอง-ธาตุเสริม   100   ซีซี.
ฮอร์โมน เอ็นเอ      100   ซีซี.
กลูโคสผง      250   กรัม
สารสกัดสมุนไพร   250   ซีซี.
ฉีดพ่นให้เปียกโชก 7 วัน/ครั้ง สลับกับ
น้ำ         100   ลิตร
ฮอร์โมนไข่      250   ซีซี.
กลูโคสผง      250   กรัม
สารสกัดสมุนไพร   250   ซีซี.
ทางราก
เปิดหน้าดิน และให้ปุ๋ย 8-24-24 ละลายน้ำรด พอหน้าดินชื้น

เดือน ต.ค. : บำรุงดอก
ช่วงนี้มะนาวเริ่มออกดอก
น้ำ         100   ลิตร
ปุ๋ยเกร็ด 15-45-15   400   กรัม
ธาตุรอง-ธาตุเสริม   100   ซีซี.
ฮอร์โมนไข่      50   ซีซี.
กลูโคสผง      250   กรัม
สารสกัดสมุนไพร   250   ซีซี.
ฉีดพ่นให้เปียกโชกทั้งใต้ใบบนใบ ช่วงเช้าแดดจัด ทุก 5-7 วัน/ครั้ง
ทางราก
เปิดหน้าดิน ละลายปุ๋ย 8-24-24 อัตรา 0.5-1 กก. ราดรดพอหน้าดินชื้น

เดือน พ.ย.: บำรุงผลเล็ก
ทางใบ
น้ำ      100   ลิตร
ปุ๋ยน้ำ      100   ซีซี.
แคลเซี่ยม-โบรอน      100   ซีซี.
เอ็นเอเอ            50   ซีซี.
กลูโคสผง         250   กรัม
สารสกัดสมุนไพร      250   ซีซี.
ฉีดพ่นให้โชกถึงโคนต้น ทุก 5-7 วัน/ครั้ง
ทางราก
นำ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยอินทรีย์ เข้าคลุมหน้าดินโคนต้น ใส่ปุ๋ย 25-7-7 อัตรา 0.5-1 กก.ทุก 15 วัน รดน้ำให้ชุ่ม ส่วนการให้น้ำเปล่า ควรให้2-3 วันครั้งตามปกติ แต่ค่อยๆเพิ่มปริมาณทุกช่วง เพราะถ้าให้มากเกินไปในทีเดียว ต้นจะสลัดลูกทิ้ง

เดือน ม.ค-มี.ค : บำรุงผล
ทางใบ
น้ำ         100   ลิตร
ปุ๋ยเกร็ด 10-20-30   400   กรัม
ธาตุรอง-ธาตุเสริม   100   ซีซี.
ฮอร์โมนเอ็นเอ      25   ซีซี.
กลูโคสผง      250   กรัม
ฮอร์โมนสมส่วน      250   ซีซี.
สารสกัดสมุนไพร   250   ซีซี.
ฉีดพ่นให้โชก ทุก 5-7 วัน/ครั้ง
ทางราก
บำรุงตามปกติ

เดือน เม.ย : บำรุงผลแก่ก่อนเก็บเกี่ยว
น้ำ         100   ลิตร
ปุ๋ยเกร็ด 0-0-50      400   กรัม
ธาตุรอง-ธาตุเสริม   100   ซีซี.
ฮอร์โมนสมส่วน      250   ซีซี.
ฮอร์โมน เอ็นเอเอ   25   ซีซี.
ฮอร์โมนไข่      25   ซีซี.
กลูโคสผง      250   กรัม
สารสกัดสมุนไพร   250   กรัม
ฉีดพ่นให้เปียกโชก ทุก5-7วัน
ทางราก
ปุ๋ยทางดิน 8-24-24 อัตรา 0.5-1 กก. ละลายน้ำรดทางดิน โดยการเปิดหน้าดินอีกครั้ง แล้วงดให้น้ำเด็ดขาด



ทั้ง หมดนี้เป็นขั้นตอนการปฎิบัติในแต่ละช่วงของการพัฒนา นอกจากนี้การป้องกัน โรค-แมลงศัตรู ก็ยังคงต้องมีการจัดการในช่วงทุกขั้นตอนเช่นกัน ดังนั้นเกษตรกรจะต้องศึกษาเพิ่มเติม เพื่อลดการทำลายในส่วนนี้ลง สำหรับฮอร์โมนหรืออาหารพืชต่างๆนั้น คาดว่าเกษตรกรหลายท่านคงเข้าใจและทำได้แล้ว  


บทความ : นายเกษม  ณ  โคราช

2 มี.ค. 2554

5 ธาตุ กับการเกษตรด้านพืช

บทนำ
       ธาตุทั้ง 5 คืออะไร แล้วไปเกี่ยวข้องกับการเกษตรได้อย่างไร  สรรพสิ่งในโลกนี้ ไม่ว่าพืชหรือสัตว์ จะดำรงชีวิตอยู่ได้ ต้องมีความสัมพันธ์กับธาตุทั้ง 5 นี้  สิ่งมีชีวิตในโลกนี้เกิดมาแล้วก็ต้องตายตามอายุไข แต่ธาตุทั้ง 5 จะดำรงอยู่คู่กับโลกนี้ตลอดไป เพียงแต่อาจเปลี่ยนสถานะได้ตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ธาตุน้ำ เป็นได้ทั้งของเหลว, ของแข็ง และไอน้ำ  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในขณะนั้นว่าสูงหรือต่ำ  ฉะนั้นถ้าเราคิดจะปลูกพืชให้ประสบความสำเร็จก็ควรทำความเข้าใจกับธาตุทั้ง    5 ให้ได้ก่อน
       หลักวิชานี้ เป็นมรดกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาจากคนจีน  เนื่องจากบิดาของผมได้อพยพมาจากประเทศจีน  ซึ่งก็ได้รับการสืบทอดต่อมาจากบรรพบุรุษเช่นกัน  หลักวิชานี้จะแตกต่างกับทางฝั่งตะวันตก  เพราะไม่มีงานวิจัยรองรับเหมือนของฝั่งตะวันตก  ซึ่งของทางตะวันตกจะมีการบันทึกเป็นตัวอักษรผลของการวิจัยในผลงานนั้นๆ  แต่ของคนจีนจะใช้วิธีถ่ายทอดแบบปากต่อปากให้เฉพาะลูกหลานในตระกูลเท่านั้น  ส่วนใหญ่จะไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อป้องกันคนนอกตระกูลขโมยวิชาของตระกูลออกไปใช้ประโยชน์  ขอยกตัวอย่างเรื่องหน้ากากเปลี่ยนหน้าของจีนที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกจะถ่าย ทอดให้คนในตระกูลเท่านั้น
       สำหรับตัวผมก็ได้รับการถ่ายทอดมาจากคุณพ่อตั้งแต่อายุ  13  ปี  ซึ่งในความเป็นจริงหลักวิชานี้จะเกี่ยวข้องกับคนและสัตว์ด้วย และในขณะนี้ผมก็กำลังศึกษาเรื่องธาตุทั้ง 5 ที่เกี่ยวกับมนุษย์อยู่ด้วย ถ้าได้ผลประการใดคงจะได้มีโอกาสเขียนเป็นหนังสือให้คนทั่วไปได้ศึกษาค้นคว้า ต่อไป แต่ในชั้นนี้ผมจะเขียนเฉพาะด้านพืชเท่านั้น  เมื่อตอนคุณพ่อถ่ายทอดวิชานี้ให้ก็ใช้วิธีบอกปากเปล่าเป็นภาษาจีน ผมต้องใช้เวลานานเกือบสี่สิบปีทำการทดสอบกับเรื่องต่างๆที่คุณพ่อถ่ายทอดให้ จนพอเข้าใจว่าพืชไปเกี่ยวข้องอะไรกับธาตุทั้ง 5  เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจง่าย ผมขอแบ่งหลักการปลูกพืชให้ประสบความสำเร็จขอแบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ดังนี้
 ส่วนที่ 1 ธาตุทั้ง 5 คือ ธาตุดิน, ธาตุน้ำ, ธาตุลม, ธาตุไฟ และธาตุโลหะ แบ่งเป็น 5 ข้อ ดังนี้
    1. ธาตุดิน คือ ธาตุที่เกิดจากหิน, สินแร่ และซากพืช ซากสัตว์ต่างๆที่ทับถมกันเป็นเวลานานแล้วย่อยสลายเป็นดิน  เป็นที่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมาย เช่น ไส้เดือน หรือ จุลินทรีย์ เป็นต้น มีธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช 13 ธาตุในการดำรงชีวิต และเป็นธาตุที่รองรับสสารกับวัตถุต่างๆบนโลก  เช่น       ต้นยางพาราที่ยืนต้นได้ไม่ล้มก็เพราะอาศัยดินเป็นตัวยึดรากเอาไว้ เป็นต้น
2. ธาตุน้ำ คือ ธาตุไฮโดรเจน (H) กับธาตุออกซิเจน (O) ดั่งคำที่มีการกล่าวกันไว้ น้ำคือชีวิต เพราะไม่ว่าพืชหรือสัตว์ถ้าไม่มีน้ำก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
    3. ธาตุลม คือ ธาตุคาร์บอน (C) ธาตุออกซิเจน (O)  พืชหรือสัตว์ก็ต้องหายใจ ถ้าขาดธาตุลมก็ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้เช่นกัน ต้นไม้ที่เราเห็นตั้งแต่ราก, ลำต้น, กิ่ง, ใบ ก็คือองค์ประกอบของธาตุคาร์บอน แม้แต่แผ่นยางพาราก็มีธาตุคาร์บอนปะปนอยู่เช่นกัน
    4. ธาตุไฟ คือ อุณหภูมิและแสงแดด  โดยเฉพาะพืชที่มีสีเขียว (คลอโรฟิลล์) จำเป็นต้องอาศัยแสงแดดในการปรุงอาหาร หรือสังเคราะห์แสง  ฉะนั้นถ้าพืชขาดแสงแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
    5. ธาตุโลหะ คือ ปัจจัยการผลิตทั้งหมด ได้แก่ พันธุ์พืช, ธาตุอาหาร, สินแร่ทั้งหมดที่มีอยู่ในโลกนี้  ยกตัวอย่างธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืช เช่น ธาตุไนโตรเจน, โพแทสเซียม, แคลเซียม เป็นต้น ถ้าเป็นพันธุ์พืช เช่น ต้นยางพารา, ต้นมะม่วง, ผักบุ้ง เป็นต้น
ส่วนที่ 2 การฝึกอวัยวะทั้ง 5 คือ ตา  หู  จมูก  ปากและมือ ขอแบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้
    1. ตาดู ต้องหมั่นใช้ตาสังเกต หรือ อ่านหนังสือวิชาความรู้ต่างๆให้มาก  เกษตรกรโดยทั่วไปมักขาดการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัวเอง ขอยกตัวอย่างสัก 3 เรื่อง
    ตัวอย่างที่ 1 พืชที่เราปลูกอยู่จะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามฤดูกาลและอายุของมัน เช่นเมื่อเราปลูกทุเรียน ส่วนมากจะรู้สึกได้เมื่อตอนที่ต้นทุเรียนติดดอกและออกผลแล้ว  ซึ่งก่อนหน้านั้นเกษตรกรส่วนใหญ่มักไม่ได้สังเกตขบวนการเปลี่ยนแปลงของต้น ทุเรียน จะมาดูอีกครั้งก็เมื่อติดดอกออกผลแล้ว
ตัวอย่างที่ 2 เรื่องการเพาะเห็ดก้อนในโรงเรือน  โดยใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพาราเป็นวัสดุทำก้อน  เราต้องฝึกใช้ตาสังเกตสีของขี้เลื่อยว่าลักษณะสีแบบไหนเหมาะสมที่จะนำมาเพาะ เห็ดได้
    ตัวอย่างที่ 3 เรื่องการประมาณการปริมาณน้ำฝน ในพื้นที่การเกษตรของเราว่าตกปีละประมาณกี่มิลลิเมตร ก็ให้สังเกตดูต้นไม้พื้นเมืองในท้องถิ่นเราว่ามีลักษณะเปลือกบริเวณลำต้นแบบ ไหน เช่น เปลือกหนาหรือบาง, เปลือกหยาบหรือเรียบ, เปลือกแข็งหรืออ่อน, มีราหรือตะไคร้เกาะอยู่มากหรือน้อย, ลักษณะทรงพุ่มใหญ่หรือเล็ก เป็นต้น  ซึ่งลักษณะโครงสร้างภายนอกเหล่านี้ก็สามารถประมาณการได้ว่า ในพื้นที่นั้นปีหนึ่งมีฝนตกประมาณกี่มิลลิเมตร 

 2. หู  ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี  เมื่อมีผู้รู้หรือครู อาจารย์ หรือปราชญ์ ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้ต้องตั้งใจฟัง  จากนั้นนำมาแยกแยะวิเคราะห์หาเหตุและผล  ดังคำสอนในทางพุทธศาสนาที่ว่า เมื่อเราเกิดผลในปัจจุบัน มันต้องมีเหตุมาจากอดีต ขอยกตัวอย่างง่ายๆเรื่องหนึ่ง  การที่เราได้กินผลมะม่วงในวันนี้ ก็เพราะเราต้องปลูกต้นมะม่วงก่อน  ซึ่งก็มาจากต้นเหตุที่เราปลูกมะม่วงในอดีตก่อน  จึงมีผลให้เราได้กินในวันนี้  เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราปลูกต้นยางพาราแล้วจะออกลูกมาเป็นผลมะม่วง
    3. จมูก  โดยทั่วไปคนที่ร่างการปกติ จมูกสามารถที่จะแยกแยะกลิ่นต่างๆได้ เช่น นี่คือกลิ่นทุเรียน หรือกลิ่นหอมดอกมะลิ เป็นต้น ฉะนั้นตัวเกษตรกรก็ควรฝึกการใช้จมูกแยกแยะกลิ่นให้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ในการทำเกษตรได้มาก ขอยกตัวอย่าง 3 เรื่อง
ตัวอย่างที่ 1  ฝึกใช้จมูกแยกกลิ่นปุ๋ยชนิดต่างๆ เช่น ปุ๋ยยูเรียมีกลิ่นแบบไหน หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีต้องมีกลิ่นแบบไหน เป็นต้น
    ตัวอย่างที่ 2  เรื่องการเพาะเห็ดก้อนโดยใช้ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ก็ดมกลิ่นขี้เลื่อยให้เป็นว่ากลิ่นแบบไหนคุณภาพดีหรือไม่ดี เช่น กลิ่นขี้เลื่อยคุณภาพดีจะต้องไม่มีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว และสีต้องไม่ดำคล้ำ สภาพเนื้อขี้เลื่อยไม่ยุ่ยเมื่อใช้มือบี้
ตัวอย่างที่ 3  การใช้จมูกดมกลิ่นดินในพื้นที่จะทำการปลูกพืช วิธีนี้สามารถบ่งบอกอะไรเราได้บ้าง เช่น ดินนี้มีอินทรียวัตถุอยู่มากหรือน้อย หรือมีสารเคมีฆ่าหญ้ามามากหรือน้อย หรือขณะที่ขุดดินมาดมในดินมีความชื้นอยู่มากหรือน้อยแค่ไหน เป็นต้น
    4. ลิ้น  โดยปกติลิ้นของคนเราสามารถแยกแยะรสชาด ฉะนั้นควรรู้จักใช้ลิ้นให้เกิดประโยชน์  สมมุติเราปลูกไม้ผลอะไรสักอย่าง เราต้องใช้ลิ้นชิมดู ผลไม้ที่เราปลูกมีคุณภาพรสชาดตามที่ต้องการหรือไม่  ถ้าชิมแล้วคุณภาพไม่ได้ตามที่ต้องการ แสดงว่า อาจเกิดจากการได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในขณะนั้น เช่น อุณหภูมิสูงเกินไปหรือต่ำเกินไป ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้คุณภาพของผลไม้ด้อยลงได้
    5. มือ  ถ้าร่างกายเรามือไม่พิการ  ก็สามารถช่วยเราทำในสิ่งต่างๆได้มากมาย  นอกจากจับถือสิ่งของแล้ว เขียนหนังสือแล้ว ยังสามารถช่วยเราในด้านการทำเกษตรด้วย ขอยกตัวอย่างสัก  2 เรื่อง
    ตัวอย่างที่ 1  การทำเห็ดก้อน เมื่อเราผสมวัสดุต่างๆตามอัตราส่วนแล้ว  เราต้องใช้มือกำขี้เลื่อยแล้วแบ เพื่อให้รู้ว่าขี้เลื่อยมีความชื้นพอที่จะนำบรรจุในถุงได้แล้วหรือไม่  หรือการหาความชื้นในโรงเปิดดอกเห็ด ว่ามีความชื้นพอหรือไม่ ให้ใช้มือโบกสะบัดไปมาในโรงเห็ด หลังมือเราก็จะสัมผัสได้ว่ามีความชื้นในขณะนี้มากหรือน้อยแค่ไหน เป็นต้น

 ตัวอย่าง ที่ 2  การฝึกใช้มือคลึงดินหรือบี้ดิน  เพื่อให้รู้ลักษณะโครงสร้างดินเบื้องต้นว่า เป็นดินประเภทไหน เช่น ดินเหนียว, ดินร่วน หรือดินทราย เป็นต้น  เพื่อที่จะได้กำหนดพืชที่เหมาะสมกับประเภทของดินนั้นๆลงปลูก เพราะพืชแต่ละชนิดชอบดินแต่ละประเภทไม่เหมือนกัน เช่น ข้าวชอบดินเหนียว หรือผักส่วนใหญ่ชอบดินร่วน เป็นต้น
    เรื่องเกี่ยวกับอวัยวะทั้ง 5 นี้ ผมเพียงยกเป็นตัวอย่างขึ้นมาเล็กน้อย เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกรที่สนใจนำไปฝึกฝน เพราะในโลกเรามีพืชมากมายหลากหลายชนิด ที่มีการดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน หรือชอบสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน หรือชอบประเภทดินไม่เหมือนกันเป็นต้น ฉะนั้นจึงทำให้การฝึกใช้อวัยวะทั้ง 5 ในแต่ละสภาพพื้นที่ก็ต้องแตกต่างกันออกไป
ส่วนที่ 3  การเข้าใจองค์ความรู้ 4 เรื่อง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ตรงของตนเอง หรือ จากการศึกษาจากตำรา หรือ จากครู อาจารย์ของเรา เป็นต้น องค์ความรู้ 4 ที่ต้องเข้าใจ ได้แก่
    1. เรื่องดิน  เราต้องมีความรู้พื้นฐานลักษณะโครงสร้างดินในพื้นที่การเกษตรของเราก่อนว่า เป็นดินแบบใด เช่น ดินเหนียว, ดินร่วน, ดินลูกรัง เป็นต้น มีสภาพภูมิประเทศ เช่น ที่ลุ่ม, ที่ราบ หรือที่สูง มีหน้าดินลึกหรือตื้นระดับใด ขอยกตัวอย่างสัก 3 เรื่อง
    ตัวอย่างที่ 1  ถ้าเราจะปลูกทุเรียน ควรมีหน้าดินลึกอย่างน้อย 50 เซนติเมตร เพราะรากที่จะดูดหาอาหารของทุเรียนจะอยู่ระดับประมาณ 50 เซนติเมตรจากผิวดิน
    ตัวอย่างที่ 2  ถ้าจะปลูกพืชประเภทผัก มีหน้าดินลึกประมาณ 20-30 เซนติเมตรจากผิวดิน ก็สามารถปลูกได้แล้ว เพราะระบบรากผักหากินอาหารไม่ลึกเหมือนไม้ผล
    ตัวอย่างที่ 3  ถ้าเราคิดจะปลูกยางพาราในเขตพื้นที่ดินทราย เหมือนที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนา       เขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เราจะมีวิธีการอย่างไรที่จะทำให้สามารถปลูกยางให้สำเร็จได้  เพราะดินทรายลักษณะแบบนี้มีคุณสมบัติไม่จับน้ำ จับธาตุอาหาร อินทรียวัตถุ และเป็นตัวสะท้อนความร้อน สังเกตได้เวลาเราเดินเท้าเปล่าบนทรายในเวลาช่วงเที่ยงจะรู้สึกร้อนฝ่าเท้า มาก  ฉะนั้นถ้าเราจะปลูกยางพาราในเขตพื้นที่มีดินทราย ก็ควรปลูกพืชตระกุลถั่ว เช่น   ปอเทือง หรือถั่วพร้าให้เต็มพื้นที่ก่อน  เมื่อถั่วออกดอกก็ไถกลบ  จากนั้นขุดหลุมให้กว้างและลึกประมาณ 70-80 เซนติเมตร แล้วใส่ปุ๋ยอินทรีย์ประมาณ 7-8 กิโลกรัมผสมแกลบสด 1-2 กิโลกรัม ผสมกับดินบนแล้วกลบก่อนปลูกประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็ปลูกพืชคลุมทิ้งแล้วค่อยปลูกยางตามหลัง ในช่วงปีแรกที่ปลูกยาง ควรมีการให้น้ำกับต้นยางในหน้าแล้งด้วย ก็จะช่วยให้ต้นยางรอดตายสูง ส่วนการปฏิบัติดูแลรักษาก็ให้เป็นไปตามคำแนะนำของสถาบันวิจัยยาง 


สรุป   เราต้องเข้าใจสภาพพื้นที่โครงสร้างดินของเราก่อนว่าเป็นดินประเภทไหน จึงสามารถกำหนดพืชที่เหมาะกับดินของเราและจะได้มีการเตรียมดินที่ถูกต้อง
    2. เรื่องสภาพแวดล้อม ก็มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต, การให้ผลผลิตของพืชเช่นกัน เพื่อให้เข้าใจง่าย ขอแบ่งเป็นข้อๆ ดังนี้
    2.1 สภาพภูมิประเทศ พื้นที่ลุ่ม, ที่ราบ, ที่ดอน, พื้นที่เป็นลอนลูกคลื่น หรือพื้นที่สูง เป็นต้น ฉะนั้นสภาพพื้นที่ลักษณะต่างๆก็เป็นตัวกำหนดว่าจะปลูกพืชชนิดไหนได้ในแต่ละ สภาพภูมิประเทศ เพราะพืชแต่ละชนิดมีความชอบในภูมิประเทศไม่เหมือนกัน
ขอ ยกตัวอย่าง  ถ้าจะปลูกยางพารา ไม่ควรปลูกในพื้นที่ลุ่ม น้ำท่วมขัง มีระดับน้ำใต้ดินตื้น หรือมีสภาพภูมิประเทศสูงกว่าระดับน้ำทะเล 600 เมตรขึ้นไป เป็นต้น
    2.2 ปริมาณน้ำฝน  มีความสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของพืช พืชแต่ละชนิดมีความต้องการปริมาณน้ำที่แตกต่างกัน  ฉะนั้นเราต้องรู้ข้อมูลปริมาณน้ำฝนในพื้นที่การเกษตรของเราด้วย  เพื่อจะกำหนดพืชที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำฝนที่เราได้รับในแต่ละปี
    ขอยกตัวอย่าง  ถ้าพื้นที่เรามีปริมาณน้ำฝน 1,250 มิลลิเมตรต่อปีขึ้นไป หรือมีการกระจายของฝน 120-150 วันต่อปี ก็สามารถที่จะปลูกยางพาราได้ แต่ต้องดูเงื่อนไขอื่นประกอบด้วย เช่น ลักษณะภูมิประเทศ, ลักษณะดิน เป็นต้น
    2.3 อุณหภูมิ (แสงแดด)   พืชแต่ละชนิดมีความต้องการแสงแดดแตกต่างกันไป เช่น ยางพารามีความต้องการแสงแดดจัด  แต่ต้นดาหลามีความต้องการแสงแดดน้อย เป็นต้น ฉะนั้นเราต้องเข้าใจพืชที่จะปลูกว่า มีความต้องการแสงแดดและอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณเท่าไหร่
    ขอยกตัวอย่าง  เห็ดนางรมภูฐานก้อนจะออกดอกได้ดีที่อุณหภูมิในโรงเรือนควรอยู่ที่                29  องศาเซลเซียส
    2.4 ความชื้นสัมพัทธ์  มีส่วนสัมพัทธ์กับการเจริญเติบโต, การผสมเกสร, การติดดอกออกผล, คุณภาพของผลผลิต  เพราะพืชแต่ละชนิดมีความต้องการระดับความชื้นสัมพัทธ์แตกต่างกัน เช่น ทุเรียนที่กำลังติดผล ถ้าได้รับความชื้นสัมพัทธ์สูงเกินไปจะทำให้เป็นไส้ซึมได้ง่าย
ขอยก ตัวอย่าง  เรื่องลองกองเปลือกแตกก่อนเก็บเกี่ยว  ผมได้ทำการทดลองหาสาเหตุเรื่องนี้อยู่   5 ปี ในแปลงทดลอง 12 ไร่ โดยทำการแบ่งครั้งละ 6 ไร่ แปลงหนึ่งทำความสะอาดบริเวณรอบโคนต้นสะอาด  กับอีกแปลงไม่มีการกำจัดวัชพืช โดยจะใช้เครื่องตัดหญ้าตัดปีละครั้งหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต  เมื่อลองกองติดผลก็จะปล่อยให้วัชพืชขึ้นจนรก การให้น้ำและปุ๋ยก็ไม่ตัดวัชพืชออก และมีการจดบันทึก  


อุณหภูมิ ทุกวัน 2 เวลา ช่วงเช้า 08.00 นาฬิกา และช่วงบ่าย 15.00 นาฬิกา ผลปรากฏว่าแปลงที่ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกลองกองเปลือกไม่แตก แสดงให้เห็นว่า ต้นลองกองที่บริเวณรอบทรงพุ่ม มีความชื้นสูง เมื่อเกิดฝนตกเปลือกจะไม่แตก  ส่วนต้นที่มีความชื้นต่ำเปลือกจะแตกหมด สาเหตุเกิดจากเปลือกลองกองปรับตัวไม่ทัน  เพราะเมื่อฝนตกลงมาทำให้อุณหภูมิลดอย่างรวดเร็ว ปะทะกับอุณหภูมิสูงในทรงพุ่ม จึงมีผลทำให้ลองกองเปลือกแตก
    2.5 ลม  มีผลต่อการปรุงอาหารของพืชเช่นกัน ถ้ามีลมแรงทำให้ใบพลิกไปมา ก็จะทำให้การปรุงอาหารของใบไม่ต่อเนื่อง ขอยกตัวอย่าง 2 เรื่อง
    ตัวอย่างที่ 1  การปลูกยางพารา เราควรรู้ทิศทางลมในพื้นที่ด้วย  เช่น ถ้ากระแสลมมาทางทิศใต้ เราต้องปลูกไม้กันลมดักไว้ หรือปลูกยางพันธุ์ต้านทานลมดักไว้ทิศใต้ 4-5 แถว จากนั้นก็ใช้พันธุ์ปกติปลูกต่อไป
ตัวอย่างที่ 2  โรงเรือนเพาะเห็ด ควรมีฉากกั้นหน้าประตูอีกชั้น เพื่อป้องกันลมพัดเข้าโรงเพาะเห็ด  เพราะถ้าปล่อยให้ลมเข้าโรงเรือนจะทำให้การเดินทางของเส้นใยเห็ดชะงักการ เจริญเติบโต
    2.6 ฤดูกาล  เราต้องรู้ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูฝน, ฤดูร้อน และฤดูหนาว ในพื้นที่การเกษตรของเราอยู่ในช่วงเดือนไหน  เพื่อสามารถกำหนดการปลูกพืชได้ถูกต้อง โอกาสรอดตายสูง
    3. ธาตุอาหาร ก็คืออาหารของพืช  โดยทั่วไปพืชที่มีใบสีเขียวต้องการธาตุอาหารทั้งหมด  16  ธาตุ แต่มีอยู่ในธรรมชาติทั่วไป  3  ธาตุ ได้แก่ ธาตุไฮโดรเจน (H), ธาตุอ๊อกซิเจน (O)และธาตุคาร์บอน (C) ส่วนอีก 13 ธาตุจะอยู่ในดิน ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วน ตามความจำเป็นของพืชได้แก่
    3.1 ธาตุที่พืชต้องการมาก ได้แก่ ธาตุไนโตรเจน (N), ธาตุฟอสฟอรัส (P) และธาตุโพแทสเซียม (K)
    3.2 ธาตุอาหารรอง ได้แก่ ธาตุแคลเซียม (Ca) ธาตุแมกนีเซียม (Mg) และธาตุกำมะถัน (S)
    3.3 ธาตุอาหารเสริมหรือจุลธาตุ ได้แก่ ธาตุเหล็ก (Fe) ธาตุสังกะสี (Zn) ธาตุโบรอน (B) ธาตุทองแดง (Cee) ธาตุแมงกานีส (Mn) ธาตุโมลิดินั่ม (Mo) และธาตุคลอลีน (Cl)
       ถ้าพืชขาดธาตุหนึ่งธาตุใดก็มีผลต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืช ฉะนั้นเราต้องเข้าใจในธาตุแต่ละตัวด้วยว่ามีคุณสมบัติและหน้าที่แตกต่างกัน  ถ้าพืชได้รับธาตุอาหารไม่เพียงพอ ก็จะแสดงอาการขาดธาตุอาหารให้เราเห็นได้ ขอยกตัวอย่างให้เห็น 2 ธาตุ ถึงลักษณะอาการขาดธาตุอาหาร
    ตัวอย่างที่ 1  ถ้าพืชขาดธาตุไนโตรเจน (N) ตัวใบจะเหลืองซีดสม่ำเสมอทั้งใบ ธาตุนี้มีหน้าที่ สร้างการเจริญเติบโตให้กับพืช เป็นองค์ประกอบของคลอโรฟิลล์ (ส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช) แต่ถ้าพืชได้รับธาตุนี้มากเกินไป จะทำให้ภูมิต้านทานโรคลดลง และโครงสร้างลำต้นอ่อนแอ เช่น ต้นยางพาราถ้าได้รับธาตุนี้มากเกินไป ลำต้นจะโค้งโน้มลง ธาตุนี้มีคุณสมบัติพืชดูดไปใช้ได้เร็ว ถ้าอยู่ในรูปสารเคมี เช่น ปุ๋ยยูเรีย จะละลายน้ำได้ดี  เมื่อสัมผัสกับอากาศก็จะระเหยไปในอากาศได้ มีสถานะเป็นกรด และเป็นธาตุที่มีมากที่สุดในโลก 78 เปอร์เซ็นต์ของธาตุทั้งหมด


ตัวอย่าง ที่ 2  ถ้าพืชขาดธาตุฟอสฟอรัส (P) จะเกิดอาการไหม้ที่ปลายใบแห้งกรอบ ธาตุนี้มีหน้าที่สร้างเซลล์ตาดอก ระบบราก เป็นส่วนองค์ประกอบของเนื้อไม้ให้แข็งแรง มีคุณสมบัติ เป็นธาตุมีค่าโมเลกุลสูง ละลายช้า ฉะนั้นการใส่ปุ๋ยธาตุนี้ต้องใส่ให้กระจาย อย่าให้เป็นกลุ่มเพราะทำให้ต้นไม้ตายได้ เนื่องจากธาตุตัวนี้จะดูดน้ำเลี้ยงจากรากออกมามาก เพื่อปรับสภาพบริเวณนั้นให้ค่าสมดุล รากจึงจะดูดซึมกลับเข้าไปได้ แต่ถ้าบริเวณนั้นมีธาตุนี้มากเกินไปจะทำพืชสูญเสียน้ำเลี้ยงมาก ต้นก็จะแห้งตายในที่สุด ความที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า ปุ๋ยเค็ม จึงทำให้ต้นไม้ตาย
       สรุป  เราต้องมีความเข้าใจคุณสมบัติและหน้าที่ของธาตุแต่ละธาตุ และสังเกตลักษณะอาการของพืชที่ขาดธาตุอาหารได้ ก็จะทำให้เราสามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างถูกต้องในแต่ละพืช และช่วยลดต้นทุนของเราลงด้วย
    4. การจัดการ ก็คือ การเลือกพันธุ์พืชที่เหมาะสมที่จะปลูกและการดูแลรักษา ขอยกตัวอย่าง         1 เรื่อง ถ้าเราจะปลูกยางพาราในเขตพื้นที่มีปัญหาโรคใบร่วง หรือโรคเส้นดำ  ซึ่งเกิดจากเชื้อราไฟท๊อปทอร่า โบทริโอซ่าระบาด เราต้องปลูกพันธุ์ที่ต้านทานโรคนี้แทนพันธุ์ RRIM 600 ซึ่งไม่ต้านทานโรคนี้ อาจใช้พันธุ์ B P M 24 ปลูกแทน เพราะมีความต้านทานโรคนี้ได้ดี ส่วนการดูแลรักษาพืชที่ปลูก เราสามารถหาอ่านได้จากตำราตามคำแนะนำของพืชแต่ละชนิดได้จากหน่วยงานราชการ ที่เกี่ยวข้อง หรือจากห้องสมุดทั่วไป เป็นต้น
       สรุป  ต้องเลือกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และสภาพแวดล้อมของพืชแต่ละชนิด การดูแลรักษาและให้ปุ๋ยก็ปฏิบัติตามคำแนะนำทางวิชาการของพืชแต่ละชนิด
       บทความที่ผมเขียนขึ้นมานี้ ผมได้สรุปนำส่วนที่สำคัญแยกออกเป็น 3 ส่วน ดังที่ได้เขียนมาข้างต้น  โดยอาศัยจากการที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากภาษาจีน และผนวกกับประสบการณ์ของตนเอง เพราะถ้าให้ผมเขียนโดยละเอียดในแต่ละส่วน ต้องใช้เวลานานและต้นทุนสูง เพื่อที่จะต้องเดินทางไปทั่วภูมิภาคของประเทศ โดยการถ่ายรูปลักษณะต่างๆในแต่ละท้องที่ เช่น ถ่ายภาพสภาพภูมิประเทศ, ลักษณะโครงสร้างดิน, ต้นไม้ประจำถิ่น และต้องเก็บข้อมูลภูมิสังคมในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งทำให้ต้องรวบรวมเรื่องเหล่านี้เป็นหมวดหมู่แล้วเขียนอธิบายตามภาพประกอบ ในแต่ละส่วนของเรื่อง แต่ ณ เวลานี้ผมไม่สามารถทำได้ดังที่คิด จึงจำเป็นต้องเรียบเรียงเอาแต่ส่วนที่เป็นหัวใจของการทำเกษตรด้านพืชที่ ประสบความสำเร็จ เขียนลงบนบทความนี้ เพื่อเป็นวิทยาทานแก่บุคคลทั่วไปที่สนใจในการทำเกษตรด้านพืช บทความนี้เปรียบเสมือนตัวจิ๊กซอลร์ 14 ชิ้นที่ผมใส่ลงไปในกรอบรูป ส่วนที่เหลือท่านทั้งหลายต้องนำไปต่อยอดเอาเอง เพื่อให้เกิดภาพที่สมบูรณ์ โดยการหมั่นฝึกการใช้อวัยวะทั้ง 5 หาประสบการณ์ด้วยตนเอง และศึกษาจากตำราวิชาการต่างๆประกอบเข้าด้วยกัน ท่านก็จะประสบความสำเร็จในการทำเกษตรแบบยั่งยืน รักษาสภาพแวดล้อมและลดต้นทุนลงด้วย  โดยปกติเกษตรกรในแต่ละภูมิภาคจะมีภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง แต่ขอถามว่าทุกวันนี้เรานำออกมาใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน จริงอยู่ภูมิปัญญาเหล่านี้ส่วนมากไม่มีงานวิจัยรองรับ แต่ก็ใช้ได้ผลในทางปฏิบัติ เหมือน 5 ธาตุนี้ที่ผมได้รับสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ  ซึ่งไม่มีงานวิจัยรองรับเช่นกัน แต่ก็ได้ผลในทางปฏิบัติเหมือนกับภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยเรา
       ผมหวังว่าบทความชิ้นนี้ สามารถจุดประกายความคิด และเกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านที่สนใจในการทำเกษตรได้บ้างไม่มากก็น้อย
   
บทความโดย :  (สันติพงศ์    แซ่ว่อง)
                        13  เมษายน  2552